วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

การทำระนาดไทย

        ระนาด เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง จัดเป็นเครื่องดนตรีชนิดเครื่องตี ประกอบด้วย ลูกระนาด ร้อยด้วยเชือก เรียกว่า "ผืน" แขวนไว้กับ ราง ซึ่งทำหน้าที่รองรับลูกระนาด (แขวนลอย ไม่ได้วางรายกับราง) และทำหน้าที่เป็นกล่องเสียงด้วย ผู้เล่นจะใช้ ไม้ตี จำนวน 2 อัน สำหรับตีลูกระนาดให้เกิดเป็นท่วงทำนอง
ระนาดเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ว่ามีวิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมก็คงใช้ไม้กรับ 2 อันตีเป็นจังหวะแล้วต่อมาเกิดความรู้เอาไม้มาทำอย่างกรับหลายๆอัน วางเรียงตีให้เกิดเสียงหยาบๆขึ้นก่อนแล้วคิดทำไม้ รองรับเป็นรางวางเรียงราดไป เมื่อเกิดความรู้ความชำนาญขึ้นก็แก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน และทำรางรองให้อุ้มเสียงได้แล้วใช้เชือกร้อย "ไม้กรับ" ขนาดต่างๆนั้นให้ขึงติดอยู่บนราง ใช้ไม้ตีเกิดเสียงลดลั่นกันตามต้องการ ใช้เป็นเครื่องบรรเลงเพลงได้แล้วต่อมาก็ประดิษฐ์แก้ไขตัดแต่งใช้ตะกั่วกับขี้ผึ้งผสมกันติดหัวท้ายของไม้กรับถ่วงเสียงให้เกิดความไพเราะยิ่งขึ้น
         จึงบัญญัติชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า "ระนาด" เรียก "ไม้กรับ" ที่ประดิษฐ์ขนาดต่างๆนั้นว่า "ลูกระนาด" และเรียกลูกระนาดที่ร้อยเชือกเข้าไว้เป็นแผ่นเดียวกันว่า "ผืน" นิยมใช้ไม้ไผ่บงมาทำเพราะว่าได้เสียงดี ทำรางเพื่อให้อุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ทางหัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า "ราง(ระนาด)" เรียกแผ่นปิดหัวและท้ายรางระนาดว่า "โขน" และเรียกรวมทั้งรางและผืนรวมกันเป็นลักษณะนามว่า "ราง" แต่เดิมมา ดนตรีวงหนึ่ง ก็มีระนาดเพียงรางเดียว และระนาดแต่เดิมคงมีจำนวนลูกระนาดน้อยกว่าในปัจจุบันนี้
         ต่อมาได้เพิ่มลูกระนาดมากขึ้น และเมื่อมาคิดประดิษฐ์ระนาดอีกชนิดหนึ่งให้มีเสียงทุ้ม ฟังนุ่มไม่แกร่งกร้าวเหมือนชนิดก่อน จึงเลยเรียกระนาดอย่างใหม่นั้นว่า "ระนาดทุ้ม" และเรียกระนาดอย่างเก่าว่า "ระนาดเอก" เป็นคำผสมขึ้นในภาษาไทย ระนาดเอกปัจจุบันมีจำนวน 21 ลูก ลูกต้น ขนาดยาวราว 3๙ ซม. กว้างราว 5 ซม. และหนา 1.5 ซม. ลูกต่อมาก็ลดหลั่นกันลงไปจนลูกที่ 21 หรือลูกยอด มีขนาดยาว 29 ซม. ลูกระนาดเหล่านั้นร้อยเชือกแขวนบนรางและรางนั้นวัดจาก "โขน" อีกข้างหนึ่ง ประมาณ 120 ซม. มีเท้ารองรางตรงส่วนโค้งตอนกลางเป็นเท้าเดี่ยว รูปอย่างพานแว่นฟ้า เครื่องดนตรีชนิดนี้ ปรากฏมีทั้งของชวา ของมอญ และของพม่า ซึ่งพม่าเรียกว่า ปัตตลาร์ (Pattalar หรือBastran)